จุดกำเนิดการปลูกชาเริ่มจากประเทศจีน ประเทศจีน เป็นแหล่งผลิตกากชาที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นเพาะปลูกหลายล้านไร่ เป็นดินแดนเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนพื้นโลกที่ค้นพบ โดยแหล่งปลูกชาส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑล เสฉวน ถึง มณฑล ยูนนาน
การใช้กากชาในการกำจัดหอยเชอรี่ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันเขตพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวทั้งในประเทศไทยเองและอีกหลายๆประเทศที่มีการเพาะปลูกข้าวอย่างเช่น เวียดนาม อินเดีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น เนื่องจากเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมี สารพิษตกค้างในการเพาะปลูก ปลอดภัยต่อคนใช้ และปลอดภัยต่อร้านค้าที่นำไปจำหน่ายต่อ
แต่ทราบกันไหมครับว่ากากชาที่เรานำมาใช้การเกษตรนั้น แหล่งปลูกชาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน???
วันนี้กากชาตรากระทิงมีคำตอบให้กับผู้สงสัยทุกท่านครับ
ชาที่ปลูกอยู่บนโลกนี้แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภทดังนี้คือ ชาที่สำหรับใช้ชงดื่ม และชาสำหรับทำน้ำมันชา ชาที่สำหรับไว้ดื่มชงนั้นเราไม่สามารถนำมาใช้เป็นกากชาสำหรับกำจัดหอยเชอรี่ได้ บางคนอาจเข้าใจผิดว่ากากชามาจากใบชาที่ผ่านชงเรียบร้อยแล้ว แล้วนำใบส่วนที่เหลือทิ้งนั้นมากำจัดหอยเชอรี่ เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ กากชาที่ได้เรานำมาจากต้นชาที่นำไปผลิตเป็นน้ำมันชานะครับ
กากชา สำหรับกำจัดหอยเชอรี่นั้นได้มาจากต้นชาที่ผลิตน้ำมันชาเท่านั้น กรรมวิธีกว่าจะได้กากชามานั้นก็ไม่ง่ายกันเลย เริ่มจากการเริ่มเพาะกล้าต้นชา พอต้นชาเริ่มโตแข็งแรงสามารถทนต่อแดดจัดๆ ได้แล้วก็นำไปปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้โดยปลูกเป็นแถวๆมีระยะห่างเท่าๆกัน หลังจากนั้นก็หมั่นใส่ปุ๋ย พรวนดิน ดูและรักษา ต้นชาจนกระทั่งออกดอกจนกลายเป็นเมล็ดชา เราก็จะเก็บเมล็ดชาที่เฉพาะแก่ได้ที่เหมาะแก่การนำไปบีบน้ำมัน การบีบน้ำมันนั้นต้องนำเข้าโรงงานสำหรับบีบน้ำมันโดยเฉพาะ หลังจากการผลิตแล้วเราก็จะได้น้ำมันชา และกากชาออกมา น้ำมันชาสามารถนำไปเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพใช้รับประทาน ใช้สำหรับเป็นน้ำมันทอดอาหาร หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเช่น ครีมบำรุงผิว น้ำมันบำรุงผมเป็นต้น ส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันชา ก็คือ กากชา ก่อนเราจะนำกากชาไปใช้ได้ก็ต้องนำไปตากให้แห้ง กากชาที่ได้จะเป็นแผ่นๆแข็งๆ เราก็ต้องนำไปบดเพื่อให้ได้กากชาที่เป็นลักษณะเกล็ด
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกากชากก็มีหลายอย่างด้วยกัน
1. กากชาชนิดน้ำ
2. กากชาชนิดแผ่น
3. กากชาชนิดเกล็ด แบบไม่มีฟางข้าวผสม
4. กากชาชนิดเกล็ด แบบมีฟางข้าวผสม
5. กากชาชนิดละเอียด
6. กากชาชนิดผง
7. กากชาชนิดอัดแท่ง
แต่ที่นิยมนำมากำจัดหอยเชอรี่ส่วนใหญ่จะใช้ กากชาชนิดเกล็ดเนื่องจากสะดวกต่อการใช้งาน ราคาไม่แพงและได้ผลดี
ปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกบริเวณที่ปลูกชา
1. ดิน ควรเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี หน้าดินมีอินทรีย์วัตถุสูง มีธาตุไนโตรเจนมาก และมีสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินระหว่าง 4.5-5.5
2. อุณหภูมิ ชาเจริญเติบโตได้ดีในภูมิประเทศต่างๆ กัน ตั้งแต่ที่มีอุณหภูมิร้อนไปถึงเย็น
(ยกเว้นในพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งบริเวณที่เป็นเส้นรุ้งที่ 29 องศาเหนือ กับเส้นแวงที่ 98 องศาตะวัน ตก แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 70-90 องศาฟาเรนไฮด์ (21-32 องศาเซลเซียส)
3. ความสูงจากระดับน้ำทะเล ชาที่ปลูกในที่ต่ำก็สามารถเจริญเติบโตได้แต่คุณภาพไม่ดีเท่าที่ปลูกในที่สูง ความสูงที่เหมาะสมคือระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 500-1,000 เมตร จะได้ชาที่มีคุณภาพดี
4. ปริมาณน้ำฝน ฝนควรตกสม่ำเสมอตลอดปี ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 60 นิ้วต่อไป
สภาพพื้นดินที่ไม่เหมาะสมในการปลูกชา
1. ดินชั้นล่างเป็นหินหรือลูกรัง ทำให้หน้าดินที่ชาจะหยั่งรากลงไปหาอาหารได้ตื้น
2. ในดินที่ไม่มีทางระบายน้ำ เป็นหนอง บึง หรือที่น้ำขัง
3. เป็นที่ราดชันมากเกิน 16 องศา
4. ดินที่เป็นหินปูนมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินเกินกว่า 6
5. ดินที่มีอินทรีย์วัตถุในดินน้อย และไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้
6. เป็นแหล่งที่มีลมแรง จนไม่สามารถทำที่บังลมได้
7. มีใส้เดือนฝอยระบาด
การคัดเลือกชาเพื่อทำพันธุ์
ในการปลูกชาใหม่ ถ้าคัดเลือกชาจากต้นที่ให้ผลผลิตสูง จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนลดน้อยลง ลักษณะต้นชาที่ดีควรคัดเลือกไว้ทำพันธุ์ มีดังต่อไปนี้
1. สามารถให้ผลผลิตได้เร็ว
2. แผ่กิ่งก้านสาขาดี มีจำนวนใบมาก
3. หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว มีกิ่งก้านมาก และเจริญได้ดี
4. มีหน่อที่ชะงักการเจริญเติบโตน้อย
5. ข้อไม่สั้นเกินไป
6. การแผ่กระจายของรากดี
7. คุณภาพดี
8. มีความต้านทานต่อโรคและแมลง
ลักษณะของต้นกล้าที่เหมาะสม
1. มีลำต้นโตขนาดแท่งดินสอดำ
2. มีความสูงเกินกว่า 45 เซนติเมตร
3. อายุประมาณ 1 - 2 ปี
ฤดูปลูกที่เหมาะสม
ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
การเตรียมพื้นที่ปลูกชา
1. ถ้าเป็นที่พื้นที่ราบต้องไถพรวนเช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้น ต้องขุดตอและรากไม้ต่างๆ ออกให้หมด ปรับสภาพให้ราบไม่ให้มีหลุมและน้ำขัง
2. ถ้าเป็นบริเวณเนินเขา ควรเลือกเนินที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ แล้ววางแนวปลูกตามระดับขอบเนินแบบขั้นบันได
3. ในที่ที่อากาศร้อนและแห้งแล้ง ควรจะมีไม้บังร่ม เพราะจะช่วยบังแสงแดดที่จะมาถูกต้นชาโดยตรง และช่วยลดอุณหภูมิให้เย็นลง และยังเป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศอีกด้วย แต่ถ้าปลูกในพื้นที่สูงกว่า 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้บังร่มก็ไม่จำเป็น
4. สำหรับไม้บังร่มตามธรรมชาติควรจะตัดให้ห่างกันอย่างเหมาะสม เช่น ไม้ขนาดกลางควรให้ห่างกันระหว่างต้น 20 เมตรขึ้นไป
5. ควรเลือกปลูกไม้ตระกูลถั่วเป็นไม่บังร่ม และควรปลูกต้นฤดูฝนก่อนปลูกชา ไม้บังร่มมี 2 ชนิดคือ
แบบชั่วคราว เช่น ถั่วมะแฮะ ปอเทือง โดยปลูกขวางตะวัน ระหว่างแถวที่ปลูกต้นชาใหม่
แบบถาวร เช่นกระถินยักษ์ แคฝรั่ง ทองหลาง ควรปลูกก่อนปลูกชา อย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี
โดยปลูกขวางตะวัน ระยะปลูก 6-8 เมตร ส่วนต้นจามจุรี สะตอ หรือไม้ขนาดเดียวกัน ควรปลูกห่างกัน 8-10 เมตร
6. ควรปรับความเป็นกรด-ด่าง ของดินให้เหมาะสม คือประมาณ 4.5 - 5.5
การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก 30 เซนติเมตร เท่ากันหมด แล้วใช้ส่วนผสมของหน้าดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยฟอสเฟต คลุกเคล้ากันรองก้นหลุม
ระยะปลูก
ปลูกในที่ราบ ใช้ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 150 เซนติเมตร จะได้ต้นกล้าประมาณ 1,400 ต้นต่อไร่
ปลูกแบบขั้นบันได ใช้ระยะระหว่างต้น 60 เซนติเมตร ระหว่างแถว 120 เซนติเมตร จะได้ต้นกล้าประมาณ 2,200 ต้นต่อไร่
การขยายพันธุ์ทำได้ 2 อย่าง คือ
1. ใช้เมล็ด
2. การปักชำ
การขยายพันธุ์โดยเมล็ด
1. เก็บเมล็ดพันธุ์ที่แก่และสมบูรณ์ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม และนำมากะเทาะเปลือกทันที
เลือกเอาแต่เมล็ดที่สมบูรณ์แช่น้ำไว้ 1 คืน ช้อนเอาเมล็ดลอยน้ำทิ้งไป ใช้แต่เมล็ดที่จมน้ำ แล้วนำไปเพาะ
2. ภาชนะที่ใช้เพาะจะใช้กระถาง หรือกระบะ หรือจะเพาะในแปลงเพาะก็ได้ วัสดุที่ใช้เพาะคือ ถ่านก้อนเล็กๆ รองพื้นกระถางหรือกระบะหรือในแปลงเพาะแล้วใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับทรายหยาบ อัตรส่วน 1: 1 ใส่บนถ่านก้อนเล็กๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม (หรือใช้ขี้เถ้าแกลบล้วนๆ ก็ได้)
3. วางเมล็ดชาให้ตาคว่ำลงแต่ละเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วใช้ส่วนผสมของขี้เถ้า
แกลบ และทรายกลบหน้าประมาณ 2 เซนติเมตร รดน้ำซ้ำ
4. ใช้ฟางข้าวคลุมกระถางหรือกระบะ หรือแปลงเพาะ
5. ทำค้างบังแดด หรือวางไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร
6. ตรวจความงอกหลังจากเพาะได้ประมาณ 7 วัน เลือกเอาเมล็ดที่งอกรากไปชำในถุงพลาสติก
กระถาง กระบอกไม้ไผ่ ตะกร้าเล็กๆ หรือในแปลงชำ และรดน้ำทุกๆ ครั้งที่ตรวจสอบความงอก
การขยายพันธุ์โดยการปักชำ
ควรเลือกกิ่งที่มีสีระหว่างน้ำตาลและเขียว เลือกคัดเฉพาะตายาวประมาณ 1 นิ้ว
ถ้าต้องการต้นชาไปปลูกในสวนเร่งด่วน และมีกิ่งชามากพอก็เลือกตัดกิ่งที่มีสีน้ำตาลและสีเขียว เท่ากับ 2:1 ซึ่งมีตา 5-7 ตา นำไปเพาะในถุงพลาสติก กระถาง กระบะไม้ไผ่ ตะกร้าเล็กๆ หรือในแปลงชำ การเตรียมดินควรจะใช้ขี้เถ้าแกลบ ทราย หรือทรายผสมขี้เถ้าแกลบ เพื่อที่จะเร่งให้รากออกเร็วขึ้น ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือซุปเปอร์ฟอสเฟตรองก้นภาชนะที่ใช้ปลูก
การเตรียมแปลงชำ
หากชำต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำ ขนาด 5x8 นิ้ว ให้ผสมดิน : ทราย : อินทรีวัตถุ อัตรา 1: 3: 6
แล้วนำดินผสมนี้ใส่ในถุงหลังจากนั้น ก็นำกล้ามาชำได้เลย
ถ้าชำในแปลงชำ ควรเป็นดินร่วนผสมอินทรียวัตถุ เพื่อให้ดินอุ้มความชื้นได้ดี หากเป็นดินเหนียวจัดควรใส่ปูนขาวก่อนเตรียมแปลงแล้วผสมทรายหรือแกลบหรือ อินทรียวัตถุ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อให้สะดวกในการขุดย้ายไปปลูกในสวน รากจะได้ไม่ช้ำเกินไป
แปลงชำควรมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร เพื่อให้เอื้อมมือถอนหญ้าได้สะดวก ส่วนความยาวแล้วแต่เหมาะสม ระยะระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร
ในระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว ควรคลุมด้วยหญ้าหรือฟางแห้งเพื่อช่วยป้องกันวัชพืช และรักษาความชุ่มชื้นไว้ด้วย รดน้ำสม่ำเสมอเมื่อฝนไม่ตกและควรทำค้างบังแดดสูงประมาณ 2 เมตร โดยใช้ใบมะพร้าว ใบหญ้าคา ใบจาก คลุมก็ได้ จะเลี้ยงอยู่ในเรือนเพาะชำนาน 1 ? - 2 ปี จึงย้ายไปปลูกในแปลงต่อไป
การย้ายปลูก
ต้นกล้าที่ปลูกจากเมล็ดในภาชนะปลูก เมื่ออายุได้ 24 เดือน ก็ควรย้ายไปปลูกในสวนต่อไป
ต้นกล้าที่ปลูกจากการปักชำ เมื่อชำในภาชนะปลูกได้ 12 เดือน ก็ควรย้ายไปปลูกในสวนต่อไป
ต้นกล้าที่ปลูกในแปลงชำ ใช้ช้อนขุดระวังอย่าให้รากช้ำ ใช้เสียมขุดดินรอบๆ โคนต้น ปล่อยดินไว้รอบๆ โคนต้น แล้วจึงนำไปปลูกในสวน
ถ้าจะขนส่งไปไกลๆ ควรใช้กาบกล้วยหรือกระสอบหุ้มไว้ทั้งรากและดิน อย่าให้รากแห้ง เมื่อปลูกก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับต้นกล้าในแปลงชำ ต้นกล้าที่ชำในถุงพลาสติกให้ฉีกถุงออกก่อนแล้ววางต้นกล้าลงในหลุม โดยให้ต้นกล้าอยู่ลึกลงไปในหลุมเท่ากับระดับที่ชำไว้ในถุงพลาสติก แล้วกลบดินให้แน่น
ควรตัดยอดชาก่อนนำไปปลูกให้สั้นลงเหลือ 30-45 เซนติเมตร จากระดับดิน เพื่อช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ และทำให้ตาข้างแตก ต้นชาจะได้เป็นพุ่มมีกิ่งก้านและใบมากขึ้น
ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ปักทแยงมุม 45 องศา ข้างต้นชา แล้วใช้เชือกฟางผูกให้ต้นชาติดกับไม้เพื่อป้องกันลมโยก ซึ่งจำเป็นมากในการปลูกชาบนเขาที่มีลมแรง
การให้น้ำ
หลังปลูกใหม่ๆ ถ้าฝนไม่ตกควรจะให้น้ำทันที และในแหล่งที่หาน้ำได้สะดวก ควรจะให้น้ำกับต้นชาที่ปลูกใหม่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ควรปลูกชาในวันที่อากาศครึ้มฝนหรือฝนตก ต้นชาจะตั้งตัวได้เร็ว
การปฏิบัติดูแลรักษา
ควรหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชที่จะแย่งน้ำและอาหารรอบๆ โคนต้นและหลุมปลูกออกให้หมด และคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง ฟางข้าว เพื่อลดการระเหยน้ำจากดิน ต้นชาที่แห้งตายหรือใบร่วงหมด ให้ปลูกซ่อมใหม่
การใส่ปุ๋ย
หลังปลูก 3 เดือน ควรจะให้ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต ต้นละ 1 ช้อนชา โรยรอบๆ อย่าให้ชิดโคนต้น แล้วพรวนกลบ
ต้นอายุ 1 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ทุกๆ 3 เดือน
ต้นอายุ 2 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ทุกๆ 4 เดือน
ต้นอายุ 3 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 2 ช้อนแกง โดยโรยรอบๆ รัศมีพุ่ม และใส่ทุกๆ 4 เดือน
ต้นอายุ 4 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 30-10-10 และ 10-10-20 อย่างละครึ่งหนึ่ง หรือสลับกัน อัตรา 2 ช้อนแกงต่อต้น โดยโรยรอบๆ รัศมีพุ่ม และใส่ทุกๆ 4 เดือน ปีต่อๆ ไปถือเกณฑ์เช่นเดียวกันนี้
หลังจากมีการเก็บผลชาที่แก่ และสมบูรณ์สำหรับนำไปขยายพันธุ์ในเดือนกันยายน-ตุลาคม แล้ว ช่วงปลายเดือนตุลาคมควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15- ต้นละ 1 ช้อนชา โรยรอบๆ อย่าให้ชิดโคนต้นแล้วพรวนดินกลบ เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ต่อไป
ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ควรใส่ทุกปีอย่างน้อยต้นละ 1-2 ปุ้งกี๋
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งมีจุดประสงค์คือ เพื่อให้พุ่มต้นเตี้ยเก็บยอดได้สะดวก และตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ออกไป ทำให้ต้นชาแตกยอดอ่อนได้เร็ว พุ่มต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกและทำให้รับแสงแดดได้ทั่วถึง การตัดแต่งกิ่งควรปฏิบัติดังนี้
1. การตัดแต่งกิ่งครั้งแรก หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 1-2 ปี ต้นชาจะสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดทิ้งให้สูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร
2. การตัดแต่งกิ่งครั้งที่สอง ในปีต่อไปเมื่อต้นชาเจริญเติบโตมีกิ่งมาก ควรตัดให้สูงจากพื้นดิน 40 เซนติเมตร และปล่อยให้ต้นชาแตกทรงพุ่มสูงถึง 60 เซนติเมตร จึงทำการเก็บยอดชา
การตัดแต่งกิ่งควรทำในช่วงเวลาที่ต้นชาพักตัว คือ ตอนช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคม- มกราคม ควรตัดให้เฉียง 45 อาศา เพื่อป้องกันน้ำขังตรงส่วนที่ถูกตัด แล้วทาแผลด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา
ต้นชาจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี เมื่อเก็บผลผลิตได้ 2-3 ปี ควรจะทำการตัดแต่งกิ่งชาอีกครั้ง โดยให้สูงจากรอยตัดเดิม 2.5 เซนติเมตร
การปรับปรุงต้นชาที่มีอายุมาก
ผลผลิตของชาจะลดลงทุกปี ควรจะปรับปรุงต้นชาทุกปี ถ้าการบำรุงรักษาดี ต้นชาอาจจะมีอายุได้ถึง 100 ปี ต้นชาที่มีอายุมากควรปฏิบัติดังนี้
1. ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 6 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี โดยโรยรอบๆ ตามรัศมีพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจน 2 ช้อนแกง โรยรอบๆ ต้นก่อนการตัดแต่งกิ่งประมาณ 2 เดือน
2. เลือกกิ่งที่แข็งแรงไว้จำนวนพอกับความแข็งแรงของต้น กิ่งที่ไม่สมบูรณ์มีโรค-แมลง ควรตัดแต่งทิ้งไป
3. ใช้วัตถุคลุมดินหลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว
4. หน้าแล้งให้น้ำตามสมควร
5. มีการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นอย่างสม่ำเสมอ (ดูในหัวข้อการใส่ปุ๋ย)
โรคและแมลงศัตรู
โรคแมลงศัตรูของชายังไม่ระบาดทำความเสียหายขั้นรุนแรงนัก แต่ที่พบเสมอมีดังนี้
ระยะต้นกล้าที่ชำในแปลงเพาะชำ โรคแมลงที่พบมีดังนี้
1. ไส้เดือนฝอย จะทำอันตรายราก ควรปลูกต้นดาวเรืองไว้เพื่อป้องกันไส้เดือนฝอย
2. จิ้งหรีด คอยกัดกินต้นกล้า ใช้น้ำมันก๊าดหยอดลงในรูจิ้งหรีด
3. เพลี้ยอ่อน ทำให้ใบหงิก ฉีกพ่นด้วยเซฟวิน
4. โรคที่เกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการคือ มีแผลเป็นวงกลมสีน้ำตาล ตรงกลางแผลจะเป็นจุดสีขาวเกิดที่ใบ และลำต้น ให้ฉีดพ่นด้วย บอร์โดมิกซ์เจอร์หรือซัลเฟอร์ไลม์ผสมน้ำ
ระยะย้ายกล้าไปปลูกในสวน โรคแมลงที่พบมีดังนี้
1. ไรแดง ทำลายใบแก่ในระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม ใช้ซัลเฟอร์ไลม์ผสมน้ำฉีดพ่น
2. ยุง ทำลายใบอ่อนของชา ระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคม ใช้มาลาไธออนฉีดพ่น
3. โรคที่เกิดจากเชื้อรา
3.1 เกิดที่ใบอ่อนในฤดูหนาว ทำให้ใบหงิกงอ เกิดกับต้นกล้าในแปลงชำ หรือในสวนที่ไม่ได้รับแสงแดด ใช้สารเคมีป้องกันเชื้อราที่มีส่วนผสมของทองแดง ฉีดพ่น
3.2 เกิดที่เปลือกของต้นชาที่ตายแล้ว หรือใกล้จะตาย เชื้อราจะลุกลามอยู่โคนต้น ทำลายรากฝอยและระบาดแพร่ไปสู่ต้นที่ไม่เป็นโรค กำจัดโดยให้ถอนแล้วเผาไฟทิ้ง
3.3 เชื้อราที่ทำลายเซลภายในรากแก้ว ทำให้รากเน่า แผลมีลักษณะสีขาวปนน้ำตาลที่ใต้เปลือกของรากแก้ว กำจัดโดยถอนแล้วเผาไฟทิ้ง